ประวัติหรือเนื้อร้อง (ถ้ามี)
ชื่อเพลง
แสนคำนึง เถา
ผู้แต่ง
หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร
ศิลปบรรเลง)
ประเภทเพลง
เถา
ประเภทหน้าทับ
สองไม้
บทร้อง
บทร้อง เพลงแสนคำนึงเถา
สามชั้น
เที่ยวแรก
อนิจจาครานี้นะอกกู
มาอ้างว้างค้างอยู่ในป่าใหญ่
จะเป็น เหยื่อเสือสางที่กลางไพร
เอาป่าไม้เป็นเรือนเหมือนป่าช้า
เที่ยวกลับ
นี่จะอยู่อย่างไรไม่เล็งเห็น
ตายเป็นก็คงป่นอยู่กลางป่า
มิได้คิดถึงตัวมัวจะมา
ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นนี้เลย
สองชั้น
เที่ยวแรก
ขุนแผนพามาด้วยความรัก
ก็ประจักษ์ใจจริงไม่นิ่งเฉย
แต่ ทุกข์ยากอย่างนี้ยังมิเคย
อกเอ๋ยเกิดมาเพิ่งจะพบ
เที่ยวกลับ
ไม่เคยเห็นก็มาเห็นอนาถนัก
ไม่รู้จักก็มารู้อยู่เจนจบ
ร่านริ้นบินไต่ ระคายครบ
ไม่เคยพบก็มาพบทุกสิ่งอัน
ชั้นเดียว
เที่ยวแรก
ยังพรุ่งนี้นี่จะเป็นอย่างไรเล่า
จะลำบากยิ่งกว่าเก่าหรือไรนั่น
คิดขึ้นมาน้ำตาตกอกใจตัน
กลับหวั่นหวั่นแสนคำนึงถึงขุนช้าง
เที่ยวกลับ
นิจจาเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านช่อง
ถนอมน้องมิให้หน่ายระคายหมาง
คลึงเคล้าเช้าเย็นไม่เว้นวาง
อยู่กินก็สำอางลออองค์
(เสภาเรื่องขุน ช้างขุนแผน)
โน้ตเพลง
ไม่มี
รูปแบบการบรรเลงที่กำลังรับฟัง
วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
ข้อมูลเพลง
เพลงแสนคำนึง
เป็นเพลงที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ทั้งเถา
จากเพลงสำเนียงลาวของเก่าเพลงหนึ่ง
ซึ่งมักนิยมใช้บรรเลงเป็นเพลงเกร็ดหางเครื่องในกระบวนการบรรเลงของวงปี่
พาทย์นางหงส์ เข้าคู่กันมากับเพลงลาวต้อยตริ่ง
แต่ทว่าท่านได้เพิ่มเติมลีลาบางตอนให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักดุริยางคศิลป์
ไทย แล้วใช้บรรเลงเป็นเพลงรับร้องครบทั้งเถา
โดยในชั้นแรกปรุงเป็นทางโกลน ดำเนินทำนองไปเรียบๆ
ไว้ก่อนแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓
แล้วจึงประดิษฐ์ประดับอย่างงามวิจิตรอีกครั้งหนึ่ง ในปี
พ.ศ. ๒๔๘๕
ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งเพลงแสนคำนึง เถา ตามสำนวนที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันนี้ขึ้นมานั้น ท่านผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าเกิดแต่ความห่วงในดุริยางคศิลป์ไทย ซึ่งขณะนั้นเหมือนตกอยู่ใน ยุคมืด เพราะถูกผู้บริหารประเทศออกคำสั่งห้ามเล่น ห้ามร้อง ตลอดจนออกประกาศอีกต่างๆ นานาจนน่ากลัวว่า ดนตรีไทยอาจจะเสื่อมสลายไปเมื่อใดก็ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว อารมณ์ของเพลงที่ท่านประดิษฐ์ประดับขึ้นใหม่ในระยะหลังนี้จึงมีลีลาไหลทวน และเน้นหนักไปในทางแสดงความอาลัยอาวรณ์อย่างเต็มไปด้วยความคิดคำนึง สมกับชื่อที่ตั้งไว้ว่า แสนคำนึง ทุกประการ
พร้อมนี้ ยังสร้างแนวบรรเลงที่แปลกใหม่ออกไปจากเพลงอื่นๆ ด้วยการขึ้น ลูกนำ ให้ดนตรีบรรเลงนำก่อนช่วงหนึ่ง แล้วจึงส่งร้อง รวมทั้งส่งลีลาท้ายเครื่องด้วยการบรรเลงร่วม และการบรรเลงเดี่ยวด้วยเครื่องดำเนินทำนองตลอดจนเครื่องกำกับจังหวะถ้วนทั้ง วง ถ่ายทอดความในใจที่ถูกข่มเหงอย่างแสนเจ็บปวดให้พรั่งพรูออกมาอย่างเร่าร้อน และรุนแรง แต่กระนั้นในอีกลักษณะหนึ่ง ทำนองดนตรีอาจบรรยายเสียงธรรมชาติบ้าง หรือบรรยายถึงความวิเวกวังเวงบ้างได้อย่างเอิบอาบซาบซึ้งใจ สัมพันธ์กับบทร้องจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเคยใช้เป็นบทร้อง มาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพราะบทร้องใหม่ที่ท่านประพันธ์ขึ้นเองนั้น ทายาทของท่านเห็นว่า รุนแรงเกินไป เกรงว่าอาจทำให้ท่านมีความผิด จึงหันกลับไปใช้บทร้องที่ท่านเคยเลือกไว้เดิมคือ บทเสภาจากเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนลักพานางพิม มาเป็นบทร้องแทน เป็นที่นิยมมาจนทุกวันนี้
(ข้อมูลจากการศึกษาเพื่อทำรายงานของนักศึกษาปีที่ ๑ วิทยาลัยรังสิต ได้จากการสัมภาษณ์นางมหาเทพกษัตรสมุห (บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก) พ.ศ. ๒๕๓๐)